คุณธรรม จริยธรรมของครู อาจารย์ที่ควรรู้ และควรนำมาปฏิบัติ
ความหมายของคุณธรรม
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า เป็นสภาพคุณงามความดี (ราชบัณฑิตยสถาน. 2525 : 187)
คาร์เตอร์ วี. กู๊ด (Carter V. Good. 1973 : 641) ให้ความหมายคุณธรรม ไว้ว่า คุณธรรมคือ คุณลักษณะที่ดีงาม หรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และการที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคมในทางความประพฤติและจริยธรรม
ความสำคัญของคุณธรรม
คุณธรรมเป็นเสมือนหลักการสำคัญที่ให้ไว้สำหรับบุคคลหรือสังคมได้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต จะช่วยให้บุคคลปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น มีความสำเร็จในงานที่ทำ เป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ สำหรับครูอาจารย์กับคุณธรรมนั้นจะต้องเป็นของคู่กัน หากครูอาจารย์ขาดคุณธรรมเมื่อใดก็เหมือนกับนักบวชที่ไร้ศีล หลักธรรมสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ และของครู อาจารย์อีกข้อหนึ่งก็คือ
หลักสังคหวัตถุ 4
หลักพุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง สังคหวัตถุ 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สอนให้คนมีความเอื้ออาทรต่อกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูล แบ่งปัน และไว้เนื้อเชื่อใจกัน และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็น วัฒนธรรมองค์กรที่ดี “สังคหะ” แปลว่า การสงเคราะห์กัน สังคหวัตถุ 4 ก็คือ สิ่งที่เป็นเครื่องสงเคราะห์และยึดเหนี่ยวน้ำใจ ซึ่งกันและกัน 4 ประการ คือ
1. ทาน คือ การให้ การบริจาค หรือการแบ่งปันวัตถุสิ่งของ รวมถึงอุปกรณ์ในการทำงานหรือเอกสารที่ใช้ในการทำงาน เช่น หากเพื่อนร่วมงานขาดอุปกรณ์สิ่งของ ก็นำมาแบ่งปันกันใช้ การเริ่มต้นด้วยการแบ่งปันวัตถุสิ่งของ ภายนอก จะช่วยสร้างนิสัยในให้ บุคลากรในหน่วยงานมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน มีการให้และรับ เพราะนอกเหนือจากการแบ่งปันเรื่องของความรู้ ประสบการณ์ อันเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน แล้ว การแบ่งปันเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้วงจรของความรู้มีการขับเคลื่อน โดยเป็นการแบ่งปันความรู้ที่เป็นความรู้ที่ชัดแจ้งให้กับผู้เป็นศิษย์ด้วย
วศิน อินทสระ (2523 : 22 – 24 ) องค์ประกอบของสังคหวัตถุ 4 ในส่วนของเรื่องทาน ได้แก่
ทาน ตามตัวอักษรแปลว่าการให้ จำแนกเป็นการให้สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค เรียกอามิสทาน การให้ธรรม คำแนะนำ สั่งสอน ชักจูงในทางที่ดีเรียกว่าธรรมทาน การให้อภัยไม่ถือโทษล่วงเกินของผู้อื่นโดยเฉพาะเมื่อเขารู้สำนึกผิดแล้วมาขอโทษ เรียกอภัยทาน การงดเว้นไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นก็เป็นอภัยทานเหมือนกัน
อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค รวมเรียกว่า ปัจจัย 4 นั้นเป็นความจำเป็นสำหรับผู้อยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน ทำให้มีใจผูกพันกันในด้านความสำนึกคุณ การให้ด้วยวัตถุประสงค์ 3 อย่าง การให้วัตถุสิ่งของ ผู้ให้ย่อมมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ให้เพื่ออนุเคราะห์บ้าง ให้เพื่อสงเคราะห์บ้าง ให้เพื่อบูชาคุณบ้าง การให้แก่คนลำบากยากจน แร้นแค้นบากหน้าเข้ามาพึ่งพิงขอความช่วยเหลือ การให้แก่ผู้น้อย ช่วยเหลือเขาให้พ้นความลำบากด้วยความกรุณา เรียกว่า ให้เพื่ออนุเคราะห์ การให้แก่คนเสมอกัน เพื่อรักษาไมตรีและน้ำใจกันไว้ เป็นการแบ่งปันเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันตามโอกาสที่มาถึงเข้าเรียกว่าให้เพื่อสงเคราะห์ทาน 3 ประเภท หรือ ทายก 3 จำพวก
1. ทานทาสะ บางทีเรียก ทาสทาน ท่านหมายถึงการให้ของเลวเป็นทาน คำว่าเลวนั้นหมายถึงเลวกว่าที่ตนบริโภคใช้สอยเองที่ท่านเรียกทาสทานเพราะอธิบายว่าตกเป็นทาสของความตระหนี่
2. ทานสหาย บางทีเรียกสหายทาน หมายถึงการให้ของที่เสมอกันอย่างเดียวกัน กับที่ตนบริโภคใช้สอยตนบริโภคใช้สอยอย่างไร เมื่อถึงคราวจะให้ผู้อื่นก็ให้อย่างนั้นเหมือนการให้แก่เพื่อนฝูง ผู้ให้ของเช่นนั้นท่านเรียกว่าทานสหาโย
3. ทานสามี บางทีเรียก สามีทาน การให้ของที่ดีกว่าตนบริโภคใช้สอย ส่วนมากเมื่อจะให้แก่ผู้ควรเคารพ ทายกมักให้ของดีเท่าที่ตนจะพอหาได้ เช่น ของที่นำไปให้ มารดาบิดา ครู อาจารย์ พระสงฆ์ หรือนักพรตผู้ประพฤติธรรม สังฆทาน การให้แก่สงฆ์หรือให้แก่หมู่คณะ การทำของน้อยให้มีผลมากพูดสำหรับการทำบุญกับพระก่อน ตำราทางพระพุทธศาสนาบอกเราว่า การทำบุญจะให้มีผลมากนั้นต้องประกอบด้วยสัมปทาคุณ 4 ประการ สัมปทา 4 (ความถึงพร้อม ความพร้อมแห่งองค์ประกอบ) ซึ่งจะทำให้ทานที่บริจาคแล้วมีผลยอดเยี่ยม
2. ปิยวาจา คือ การเจรจาคำน่ารัก ได้แก การพูดถ้อยคำที่สุภาพอ่อนโยน ทำให้ผู้ฟังเกิดความเบิกบานสำราญใจ คำพูดที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ มี 2 ชนิด คือ ก. คำพูดที่พูดออกไปแล้ว ทำให้คนฟังเกลียดชังคนพูด และ ข. คำพูดที่พูดออกไปแล้วทำให้คนฟังรักคนพูด คำพูดประเภทที่ 1 คือคำพูดที่ทำให้คนฟังเกลียดคนพูด หมายถึง คำที่ไม่สุภาพต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกว่า คำหยาบ มีหลายชนิด เช่น คำด่า คำประชด คำกระทบ คำแดกดัน คำหยาบช้า คำจำพวกนี้รวมเรียกว่า อัปปิยวาจา คือคำพูดไม่เป็นที่รัก คำพูดประเภทที่ 2
คือ คำพูดที่เป็น ปิยวาจา ตามนัยแห่งสังคหวัตถุ ข้อนี้ หมายถึง คำพูดที่อ่อนโยน ตรงกันข้ามกับคำพูดหยาบคายดังกล่าวนั้น เช่น คำว่า คุณ ท่าน ผม เธอ ฯลฯ ตลอดจนคำอื่น ๆ ตามที่นิยมกันว่าสุภาพในหมู่ชนนั้น ๆ เช่น ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ฯลฯ รวมความว่าเป็นปิยวาจา คือ คำที่ไพเราะจับใจของคนฟังนั่นเอง
วศิน อินทสระ (2523 : 22 – 24 ) องค์ประกอบของสังคหวัตถุ 4 ในส่วนของเรื่องปิยวาจา ได้แก่
ปิยวาจา แปลว่า วาจาที่น่ารัก ก่อให้เกิดความดูดดื่มใจ ในทางธรรม หมายถึง วาจาสุภาษิต มีประโยชน์ มีเหตุผล ที่ทำตามแล้วให้เกิดประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่วาจาที่พูดหลอกลวง ประจบประแจง ให้คนรัก คนหลง และเจือด้วยโทษ วาจาสุภาษิต นั้น ทางพระพุทธองค์แสดงไว้ว่า มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ พูดถูกกาลเวลา พูดคำจริง พูดอ่อนหวาน พูดมีประโยชน์ พูดด้วยเมตตาจิต
ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต พระไตรปิฏกเล่ม 25 หน้า 411 พระองค์ทรงแสดงวาจาสุภาษิต ว่า ประกอบด้วยองค์ 4 คือ
- กล่าวแต่วาจาที่ดี ไม่กล่าววาจาที่ชั่ว
- กล่าวเป็นธรรม ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม
- กล่าววาจาน่ารัก ไม่กล่าววาจาอันไม่น่ารัก
- กล่าวคำจริง ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ
รวมความว่า ผิดวาจา ก็คือ วาจาสุภาษิต การพูดดี พูดถูกกาลเวลา พูคำจริง พูดมีประโยชน์ พูด
อ่อนหวาน และพูด้วยจิตเมตตา ส่วนคำพูดน่ารัก พูดเพื่อให้คนอื่นรัก ให้คนอื่นหลงแต่ขาดลักษณะแห่งวาจาสุภาษิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำหลอกลวง แม้จะฟังดูน่ารักเพียงใดก็ตาม ที่ผู้พูดได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น วาจาเช่นนั้นก็ไม่เป็นปิยวาจา เพราะคำพูดนั้นไปทำลายประโยชน์ของผู้ฟัง
3. อัตถจริยา แปลว่า ประพฤติประโยชน์ ได้แก่ การบำเพ็ญประโยชน์ ธรรมะข้อนี้มุ่งถึงการปรับปรุงตัวเอง 2 ประเด็นคือ ก. การทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ ข. การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในประเด็นแรกที่ว่า ทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ หมายความว่า ทำให้ตัวเรามีค่า มีราคา มีความดีที่พอจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ด้วยวิธีทำตัวให้เป็นคนมีประโยชน์อาจทำได้หลายวิธี เช่น การศึกษาอบรมและการฝึกฝนตน ให้เป็นคนมีสมรรถภาพพอที่จะช่วยคนอื่นได้ เมื่อรวมความแล้วคนมีประโยชน์ก็คือคนมีกำลังในตัวคือ มีกำลังกาย มีกำลังความคิด มีกำลังปัญญา มีกำลังทรัพย์ ฯลฯ ในประเด็นที่ 2 คือ การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เรื่องนี้เป็นเรื่องจ่ายกำลังออกไปช่วยคนอื่น คนใจกว้างจึงทำได้คนใจแคบเป็นแก่ตัวทำไม่ได้การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นนั้นโปรดอย่าเข้าใจว่า ต้องถึงกับยอมตัวลงเป็นคนใช้ของคนอื่น ไม่ใช่อย่างนั้น ความมุ่งหมายเพียงเพื่อบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แสดงอัธยาศัย อันน่ารักน่านับถือเท่านั้นการบำเพ็ญประโยชน์ดังกล่าวนี้ เช่น ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ในคราวมีกิจ ช่วยบอกกล่าว สั่งสอนวิชาความรู้ ช่วยหางาน ช่วยแนะทางอาชีพให้ คนที่บำเพ็ญประโยชน์จะต้องปฏิบัติตนอีกอยางหนึ่งคือ เว้นจากการกระทำที่จะเป็นภัยแก่ผู้อื่นเสียทั้งสิ้น แม้แต่ของเล็กน้อย เช่น ทิ้งเศษแก้วตามถนนหนทางหรือทำลายสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ให้เสียหาย
วศิน อินทสระ (2523 : 22 – 24 ) องค์ประกอบของสังคหวัตถุ 4 ในส่วนของเรื่องอัตถจริยา ได้แก่
อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ ที่แปลอัตถจริยาว่า การประพฤติประโยชน์นั้น เป็นการแปลตามตัวอักษรถือเอาหมายความว่า การบำเพ็ญประโยชน์ การทำตนให้เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและต่อคนทั้งหลาย คนเราเกิดมามีอวัยวะแขนขาเหมือนกัน ใครจะมีค่าตัวมากหรือน้อยเพียงไร จะเป็นคนสูงหรือต่ำอย่างไร ก็สุดแล้วแต่เขาทำตัวให้มีประโยชน์มากน้อยเพียงไร บุคคลผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้วก็ควรทำประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้างตามกำลังสามารถ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยตนเองได้ แล้วก็ควรช่วยผู้อื่นด้วยในการดำเนินชีวิตนั้น ควรให้ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นประสานกันคือให้ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย อันที่จริงไม่มีประโยชน์ตนที่ประกอบด้วยธรรม (คือถูกต้อง) อันไดที่ไม่เป็นประโยชน์ผู้อื่น และในทำนองเดียวกัน ไม่มีประโยชน์ผู้อื่นอันใดที่ถูกต้องจะไม่เป็นประโยชน์ตนด้วย ประโยชน์ทั้งสองย่อมอาศัยซึ่งกันและกันดำเนินไป
4. สมานัตตตา แปลว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอโดยความหมายทางปฏิบัติ ผู้ศึกษาควรจำไว้ว่า สมานัตตตา คือ การวางตัวสมกับฐานะ คือ หมายความว่า เรามีฐานะเป็นอะไร เช่น เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผัว เป็นเมีย เป็นครู เป็นศิษย์ ฯลฯ ก็ให้วางตัวสมกับที่ตัวเป็น อย่าเย่อหยิ่งจองหอง เกินฐานะ อย่าปล่อยให้ต่ำต้อยน้อยหน้าจนเกินดี การปรับปรุงตนเอง วางตัวเอง ให้พอเหมาะสมกับฐานะของตัวนั่นแหละ คือ สมานัตตตา
วศิน อินทสระ (2523 : 22 – 24 ) องค์ประกอบของสังคหวัตถุ 4 ในส่วนของเรื่องสมานัตตตา ได้แก่
สมานัตตตา แปลได้หลายนัยและความหมายดี ๆ ทั้งนั้น เช่น ความไม่ถือตัว คือ ไม่หยิ่งทะนงตน การวางตนเหมาะสมแก่ฐานะ ความเป็นผู้เสมอกันในสุขและทุกข์ คือร่วมสุขร่วมทุกข์ การประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ภาวะบุคคลและเหตุการณ์ การประพฤติได้ ดังนี้ เป็นข้อหนึ่งในการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ความเป็นผู้วางตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัว คือ การวางตัวให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามอำนาจของโลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป คุณธรรมเป็นเสมือนหลักการสำคัญที่ให้ไว้สำหรับบุคคลหรือสังคมได้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต จะช่วยให้บุคคลปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น มีความสำเร็จในงานที่ทำ เป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ สำหรับครู อาจารย์กับคุณธรรมนั้นจะต้องเป็นของคู่กัน หากครู และอาจารย์ขาดคุณธรรมเมื่อใดก็เหมือนกับนักบวชที่ไร้ศีล สังคมขาดที่พึ่ง สถาบันการศึกษามัวหมอง ขาดการยอมรับจากสังคม เพราะฉะนั้น ครู อาจารย์ จะต้องมีหลักธรรมกำกับในการทำงานเพื่อการปฏิบัติหน้าที่จะได้ประสบผลสำเร็จ และเป็นที่พึ่งของเยาวชนโดยทั่วไป.